ศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วระนอง

ศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วระนอง

เมนู

ธรรมะปรีดา #ศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วระนอง #ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรมจังหวัดระนอง #ศูนย์กัลยาณมิตรแก้วระนอง #ธ.ธรรมะปรีดา#แก้วระนอง

15 Oct 2016

กราบพระเดชพระคุณพระมหารัชมังคลาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบพระเดชพระคุณพระมหารัชมังคลาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

 

วันออกพรรษา


ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา

       เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตุวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร)  เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า

 

      "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี"

 

      การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย

     วันออกพรรษาเป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำทานรักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ

       คำว่า "ตักบาตรเทโว" มาจากคำเต็มว่า "ตักบาตรเทโวโรหณะ"  คือการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ) 

ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ


      หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

      ในเทศกาลออกพรรษา มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

       1. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมมูล

       2. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจดังมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้ การปวารณา จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ 

การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้าน เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น

12 Oct 2016

     •ประวัติความเป็นมาของพิธีทอดผ้าป่า


ทางพุทธศาสนา ความเป็นมา การทอดผ้าป่า
ประเพณีการทอดผ้าป่า
            
     • พิธีทอดผ้าป่า หมายถึง พิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ผ้าป่าคือผ้าที่ผู้ทำบุญนำไปวางไว้ที่ใดที่หนึ่งไม่ต้องการให้พระรู้ว่าตนเป็นผู้ทำบุญ และตั้งใจไว้ว่าหากภิกษุรูปใดมาพบผ้านั้นก่อนให้หยิบเอาไป กิริยาที่เอาผ้ามาวางไว้แล้วตั้งใจอธิษฐานนั้นเรียกว่าทอดผ้าป่า

         พิธีทอดผ้าป่า เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ พิธีทอดผ้าป่าจะคล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่จำกัด ในแต่ละปีทางวัดจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้ และไม่มีการเจาะจงพระภิกษุในการรับผ้า

         ความเป็นมาของประเพณีการทอดผ้าป่ากล่าวคือ ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากชาวบ้าน ดังนั้นพระภิกษุจะต้องหาผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว ผ้าที่เปรอะเปื้อน ผ้าห่อศพ โดยรวบรวมนำมาซักฟอกทำความสะอาดตัดเย็บและย้อมทำเป็นสบงจีวร สังฆาฏิ เมื่อชาวบ้านทราบถึงความยากลำบากจึงต้องการนำผ้ามาถวายแต่ยังไม่มีพุทธานุญาต ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการนำผ้าไปทอดทิ้งตามที่ต่างๆเช่น ตามทางเดิน ป่าช้า แล้วแต่ว่าพระภิกษุสงฆ์องค์ใดจะมาพบเห็นแล้วนำผ้านั้นไปใช้

กล่าวถวายผ้าป่า

         "อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุ สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ นิพพานะยะจะ"

         คำแปล "ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขและมรรคผลนิพพาน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ"
พิธีทอดผ้าป่า สนับสนุนงานทอดกฐิน โซนภาคใต้ตอนบน

พิธีทอดผ้าป่า สนับสนุนงานทอดกฐิน โซนภาคใต้ตอนบน

6 Oct 2016

ธรรมะปรีดา:สังขารไม่เที่ยง

ธรรมะปรีดา:สังขารไม่เที่ยง



" อันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การเข้าไปสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุข"


ธรรมะปรีดา

6/10/2559

6 Oct 2016

ธรรมะปรีดา:ปฏิบัติธรรม

ธรรมะปรีดา:ปฏิบัติธรรม

 ธรรมะปรีดา:ปฏิบัติธรรม

.....

"ปฏิบัติธรรม"ก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ได้ใช้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ ว่าถึงตัวคำว่า "ปฏิบัติ" เองนี้ เดิมนั้นแปลว่า"เดินทาง" มาจากภาษาบาลี ของเดิมนี้มีคำคล้ายๆ กับอีกคำหนึ่งคือ "ปฏิปทา" 

"ปฏิปทา" แปลว่าอะไร จะเห็นได้ในคำว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" ที่เราแปลกันว่า "ทางสายกลาง" มัชฌิมา แปลว่า สายกลาง และปฏิปทา แปลว่า ทาง ทางคืออะไร ทางนั้น คือ ที่จะเดิน คำว่าปฏิปทา ก็คือ ที่ ที่จะเดิน คำว่า ปฏิปทา กับคำว่า ปฏิบัตินี้ เป็นคำเดียวกัน รากศัพท์อันเดียวกัน ถ้าเป็นกริยา มีรูปเป็น ปฏิปชฺชติ แปลว่า ดำเนิน หรือเดินทาง 

เพราะฉะนั้น ปฏิปชฺชติ มาเป็น ปฏิบัติ หรือเป็น ปฏิปทา ก็ตาม ก็แปลว่า การเดินทาง หรือแปลว่า ทางที่เดิน ถ้าเป็นการเดินทางก็นิยมใช้ในรูปว่า ปฏิปตฺติ หรือไทยใช้ว่า ปฏิบัติ ถ้าเป็นทางที่เดินก็นิยมใช้ ปฏิปทา เพราะฉะนั้น เราเอาถ้อยคำสำหรับสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั้นเอง มาประยุกต์ใช้ในทางธรรม การเดินทางตามปกตินั้น เป็นการเดินทางภายนอก เป็นการเดินทางด้านวัตถุ เอาเท้าเดิน หรือแม้มีรถแล้ว เอารถวิ่งไป ตลอดจนไปด้วยเครื่องบิน ก็เรียกว่า เป็นการเดินทาง

ทีนี้ ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตก็เป็นการเดินทางชนิดหนึ่ง แต่เรามักเปลี่ยนคำพูดจากเดินมาเป็น ดำเนิน ที่จริงเดินกับดำเนินนั้น ก็ศัพท์เดียวกันนั่นแหละเดินก็แปลงมาดำเนิน แล้วเราก็มีการดำเนินชีวิตในการดำเนินชีวิตนั้น ก็เหมือนกับว่าเราเอาชีวิตนี้ไปเดินทาง หรือว่าการเป็นอยู่ของเรานั้นเปรียบเสมือนทาง ถ้าเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ก็เรียกว่าเดินทางชีวิตอย่างถูกต้อง คือ ดำเนินชีวิตได้ดี ถ้าเดินทางชีวิตไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่าดำเนินชีวิตที่ผิด ในเมื่อปฏิปทา หรือปฏิบัตินี้ แปลว่า การเดินทาง และทางที่เดิน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็คือเอาธรรมมาใช้ในการเดินทางชีวิต หรือเอามาช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง หรือเอามาช่วยในการเดินทางชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปด้วยดี

6 Oct 2016

ธรรมะปรีดา:พุทธพยากรฝัน

ธรรมะปรีดา:พุทธพยากรฝัน


 ธรรมะปรีดา:พุทธทำนายที่พระเจ้าประเสนธิโกศลทรงกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



1. ทรงฝันว่า มีโคตัวผู้สีเหมือนดอกอัญชัญ 4 ตัว ต่างคิดจะชนกัน ก็พากันวิ่งมาสู่ท้อง พระลานหลวงจาก 4 ทิศ ฝูงชนต่างรอดู โคทั้งสี่ก็ส่งเสียงคำรามลั่น แต่แล้วต่างก็ถอยออกไป ไม่ชนกัน - พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายว่า ในอนาคตในชั่วศาสนาของพระองค์ เมื่อโลกหมุน ไปถึงจุดที่เสื่อมลง มนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ฝนฟ้าจักแล้ง ทุพภิกขภัยจักเกิดขึ้น คล้ายเมฆตั้งเค้าจะมีฝน มีเสียงคำรามกระหึ่ม แต่แล้วก็ไม่ตก กลับเลยหายไป เหมือนโค ตั้งท่าจะชนกัน แต่ไม่ชนกันฉะนั้น 


2. ทรงฝันว่า ต้นไม้เล็กๆ และกอไผ่ที่โตเพียงคืบบ้าง ศอกบ้าง ก็ออกดอกออกผลแล้ว - พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า ต่อไปเมื่อโลกเสื่อม มนุษย์แม้จะมีอายุเยาว์ มีวัยยังไม่สมบูรณ์ ก็จะมีราคะกล้า และสมสู่กันตั้งแต่อายุยังน้อย และจะมีลูกแต่เด็กๆ เหมือนต้นไม้เล็กๆ แต่ก็มีผลแล้ว 


3. ทรงฝันว่า ทรงเห็นแม่โคใหญ่ๆ พากันดื่มนมของฝูงลูกโคที่เพิ่งเกิด - ทรงทำนายว่า ต่อไปในอนาคตการเคารพนบนอบผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์จะเสื่อมถอย คนเฒ่าคนแก่พ่อแม่เมื่อหมดที่พึ่ง หาเลี้ยงตนไม่ได้ ก็ต้องง้อ ต้องประจบเด็กๆ ดังที่แม่โคที่ต้องกินนมลูกโคฉะนั้น

4. ทรงฝันว่าผู้คนไม่ใช้วัวตัวใหญ่ ที่สมบูรณ์แข็งแรงเทียมแอกลากเกวียน กลับไปใช้ โครุ่นๆ ที่ยังปราศจากกำลังมาลาก เมื่อมันลากเกวียนให้แล่นไม่ได้ มันก็สลัดแอกนั้นเสีย - ทรงทำนายว่า ในภายหน้าเมื่อผู้มีอำนาจไม่ตั้งอยู่ในธรรม แทนที่จะยกย่องและมอบหมายหน้าที่ ให้กับผู้มีสติปัญญา ความรู้ กลับไปมอบยศศักดิ์ให้กับคนหนุ่มที่อ่อนหัด ด้อยประสบการณ์ ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี กิจการต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ ก็เหมือนใช้โครุ่นมาเทียมแอก เกวียนก็ แล่นไม่ได้ฉันใด ก็ฉันนั้น  


5. ทรงฝันว่าเห็นม้าตัวหนึ่ง มีปากสองข้าง ฝูงชนก็เอาหญ้าไปป้อนที่ปากทั้งสองข้าง มันก็กินทั้งสองข้าง - ทรงทำนายว่า ในอนาคตเมื่อผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจไม่ดำรงอยู่ในธรรม ตั้งคนพาล หรือคนไม่มีศีลธรรมไว้ในตำแหน่งอันมีผลต่อผู้อื่น คนเหล่านั้นก็จะไม่นึกถึง บาปบุญ คุณโทษ แต่จะตัดสินคดีต่างๆ ตามแต่ใจชอบ โดยเอาสินบนจากทั้งสองฝ่ายเป็นประมาณ ดังม้าที่กินหญ้าทั้งสองปาก 


6. ทรงฝันว่าฝูงชนเอาถาดทองราคาแพง ไปให้หมาจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง พร้อมเชื้อเชิญให้ หมาจิ้งจอกตัวนั้น ถ่ายปัสสาวะใส่ถาดทองนั้น - ทรงทำนายว่า ต่อไปคนดีมีสกุลทั้งหลายจะ สิ้นอำนาจวาสนา คนตระกูลต่ำ หรือคนพาลจะได้เป็นใหญ่เป็นโต และคนมีตระกูล ก็จะต้อง ยกลูกสาว ให้แก่ผู้ไร้ตระกูลเหล่านั้น เหมือนเอาถาดทองไปให้หมาปัสสาวะรด 


7.ทรงฝันว่า มีชายคนหนึ่งนั่งฟั่นเชือก แล้วหย่อนไปในที่ใกล้เท้า แม่หมาจิ้งจอกโซ ตัวหนึ่ง นอนอยู่ใต้ตั่งที่บุรุษนั้นนั่งอยู่ แล้วก็กัดกินเชือกนั้น โดยที่เขาไม่รู้ตัว - ทรงทำนายว่า ในกาลข้างหน้า ผู้หญิงจะเหลาะแหละ โลเล ลุ่มหลงในสุรา เอาแต่แต่งตัว เที่ยวเตร่ ประพฤติทุศีล แล้วก็จะเอาทรัพย์ที่สามีหาได้ด้วยความลำบากไปใช้ หรือให้ชายชู้ เหมือนนาง หมาโซที่นอนใต้ตั่ง คอยกัดกินเชือกที่เขาฟั่น และหย่อนลงไว้ใกล้เท้า 


8. ทรงฝันว่ามีตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมตุ่มหนึ่งวางอยู่ตรงประตูวัง แวดล้อมด้วยตุ่มว่างๆ เป็นอันมาก แต่คนก็ยังไปตักน้ำใส่ตุ่มที่เต็มอยู่ จนล้นแล้วล้นอีก โดยไม่เหลียวแลจะตักใส่ตุ่มที่ว่างๆ นั้นเลย - ทรงทำนายว่า ในอนาคต เมื่อศาสนาเสื่อม คนเป็นใหญ่หรือมีอำนาจ จะเบียดเบียนหรือเอา เปรียบผู้ด้อยกว่า คนที่รวยอยู่แล้ว ก็จะมีคนจนหารายได้ ไปส่งเสริมให้รวยยิ่งขึ้น ดังฝูงชนที่ต้องตักน้ำใส่ตุ่มใหญ่ที่เต็มอยู่แล้วจนล้น ส่วนตุ่มที่ว่างอยู่กลับไม่ไปใส่น้ำ 


9. ทรงฝันเห็นสระแห่งหนึ่ง มีบัวนานาชนิดขึ้นอยู่เต็ม และมีท่าขึ้นลงโดยรอบ สัตว์ต่างๆ ก็พากันดื่มน้ำในสระ แต่แทนที่น้ำบริเวณที่สัตว์เหยียบย่ำจะขุ่น กลับใสสะอาด ส่วนน้ำที่อยู่ลึกกลางสระที่สัตว์ไม่ไปดื่มหรือ เหยียบย่ำแทนที่จะใส กลับขุ่นข้น - ทรงทำนายว่า ต่อไป เมื่อคนมีอำนาจไม่ตั้งอยู่ในธรรม ขาดเมตตา คอยใช้อำนาจ รีดนาทาเร้นหรือกินสินบน ชาวบ้านชาวเมือง ก็จะหนีไปอยู่ตามชายแดนหรือที่อื่นๆ ทำให้ที่นั้นๆ ที่คนพากันไปอยู่มีความ มั่นคงเป็นปึกแผ่น เหมือนน้ำรอบๆ สระที่ใส ส่วนเมืองหลวงกลับว่างเปล่า เหมือนกลางสระที่ขุ่น 


10. ทรงฝันว่า เห็นข้าวที่คนหุงในหม้อใบเดียวกัน สุกไม่เท่ากัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ข้าวแฉะ ข้าวดิบ และข้าวสุกดี - ทรงทำนายว่า ในอนาคต เมื่อคนทั้งหลายไม่อยู่ในศีลในธรรม กันมากขึ้น ก็จะทำให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือตกไม่ทั่วถึง ทำให้การเพาะปลูกบางแห่ง ได้ผล บางแห่งก็ไม่ได้ผล เช่นเดียวกับข้าวที่มีสุกบ้าง ดิบบ้าง และแฉะบ้าง 

11.นำพระธรรมมาขายกิน 
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินนิมิตเห็นคนพวกหนึ่ง เอาแก่นจันทร์แดงที่มีค่าราคาแพง ไปแลกกับนมเปรี้ยวหม้อเดียว ซึ่งไม่สมค่าราคากันเลย พระพุทธเจ้าให้คำทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนพวกหนึ่ง จะเอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตรา จะเขียนเป็นตำราเพื่อออกจำหน่าย ขายกิน หารายได้เพื่อเลี้ยงชีวิต เอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ทำเป็นการแสดง แต่งกลอน เพื่อผลประโยชน์ในกัณฑ์เทศน์ แสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ค่าจ้างรางวัล อันเป็นอามิส ไม่สมค่าราคากันเลย สิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นในช่วงปลายศาสนาของเราตถาคตโน้น 

12. ทรงฝันเห็นกระโหลกน้ำเต้าจมน้ำได้ - ทรงทำนายว่า ต่อไปคำพูดของคน ที่ไม่ควรจะ ได้รับความเชื่อถือ กลับจะได้รับความเชื่อถือ โดยเปรียบถ้อยคำของคนที่ไม่น่าเชื่อว่ามีน้ำหนักเบาเหมือนกับผลน้ำเต้า ซึ่งปกติจะลอยน้ำ แต่เมื่อคนเชื่อว่าคำพูดเหล่านั้นมีน้ำหนัก หรือหนักแน่น จึงเปรียบคำพูดนั้น ว่ามีน้ำหนัก ราวกับน้ำเต้าที่จมน้ำได้ 


13. ทรงฝันว่าศิลาแท่งทึบขนาดเรือน ลอยน้ำได้เหมือนเรือ - ทรงทำนายว่า ถ้อยคำของคนที่ควรได้รับการเชื่อถือ ซึ่งหนักแน่น มีน้ำหนักเปรียบประดุจแท่งศิลา กลับไม่ ได้รับความเชื่อถือ หรือกลายเป็นถ้อยคำที่ไม่มีน้ำหนักเหมือน เรือที่ลอยได้ ข้อนี้ตรงกันข้าม กับข้อที่แล้ว คือ คนหันไปเชื่อคำพูดคนที่ไม่ควรเชื่อ เหมือนสิ่งที่ควรลอยกลับจม สิ่งที่ควร จมกลับลอย 


14. ทรงฝันว่า ทรงเห็นฝูงเขียดตัวเล็กๆ วิ่งไล่กวดงูเห่าตัวใหญ่ และกัดเนื้องูเห่าขาด เหมือนกัดก้านบัว แล้วกลืนกินเข้าไป - ทรงทำนายว่า เมื่อมนุษย์ปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส ราคะ สามีจะตกอยู่ในอำนาจของเมียเด็ก และจะถูกดุด่าว่ากล่าวเช่นเดียวกับคนรับใช้ เหมือน เขียดตัวเล็กๆ แต่กลับกินงูได้ 


15. ทรงฝันว่า ฝูงพญาหงส์ทอง ที่มีขนเป็นทอง ถูกแวดล้อมด้วยกา - ทรงทำนายว่า ในอนาคตผู้มีตระกูลต้องไปเที่ยวประจบ และสวามิภักดิ์ต่อผู้ไม่มีตระกูล เหมือนหงส์ทองแวด ล้อมด้วยกา 

16. ทรงฝันว่า ฝูงแกะพากันไล่กวดฝูงเสือเหลือง และกัดกิน ทำให้เสืออื่นๆ สะดุ้งกลัว จนต้องหนีไปแอบซ่อนตัวจากฝูงแกะ - ทรงทำนายว่าต่อไปภายหน้า คนชั่ว หรือคนที่ไม่ดี จะเรืองอำนาจ และใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ทำให้คนดีถูกทำร้าย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องหลบหนี ซ่อนตัวจากภัยร้ายเหล่านี้ เหมือนเสือซ่อนตัวจากแกะ 



24 Sep 2016
เกาะพยาม,ระนอง

เกาะพยาม,ระนอง

หน้า:1 - 2 - 3 - 4 - 5 - 6 - 7 - 8 - 9 - 10
X